ไก่บ้านอบสมุนไพรในสวน
ขึ้นชื่อให้เก๋ไก๋ ความจริงไม่ได้เป็นไก่บ้านแบบในความหมายของคนไทยหรอกค่ะ แต่เป็นไก่ที่เขาเลี้ยงไว้ในฟาร์มเปิด แต่เลี้ยงดูอย่างธรรมชาติ ให้อาหารธรรมชาติ ไม่ใช่อาหารเสริม ดูแลให้ไก่มีสุขภาพจิตดี ไม่ได้รับความทรมานอุดอู้แต่ประการใด (เขาไม่ได้บอกว่าตอนเอาไก่ไปเชือดนี่ต้องให้ไก่หลับก่อนหรือเปล่า แหะ แหะ) ที่นี่เขาเรียกไก่แบบนี้ว่า ผลิตภัณฑ์อาหารแบบไบโอ (Bio) หรือออกเสียงว่า บิโอ ในภาษาฝรั่งเศส จะเปรียบเทียบก็เหมือนผลิตภัณฑ์ออร์กานิก คำว่า Bio เป็นคำที่ใช้อย่างแพร่หลายกับเนื้อสัตว์ ผัก และผลไม้ที่ปลูก เลี้ยง ทะนุถนอมอย่างถูกวิธีและหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีที่เป็นพิษ (หากไม่เป็นพิษก็ใช้ได้)
ด้วยเหตุนี้ผลิตภัณฑ์แบบนี้จึงแพงเป็นพิเศษ แต่คนจำนวนไม่น้อยก็หาซื้อกันค่ะ เป็นต้นว่าในตะกร้าจ่ายกับข้าวของรจนาแต่ละครั้งจะต้องมีอะไรที่เป็นไบโอเสมอ ไม่มันฝรั่ง ก็เนื้อไก่ หรือมะเขือเทศ หรือผักอย่างใดอย่างหนึ่ง รวมไปถึงนม เนย เนยแข็ง มูสลี่ อีกร้อยแปดค่ะ
วันก่อนรจนาเห็นสมุนไพรในสวน (กระถาง) ดูงามดี มีพร้อมครบตามเพลง Scoborough Fair ของ Simon กับ Garfunkel คือ มีพาร์สลีย์ เสจ โรสแมรี่ และไทม์
นี่ภาพสวนครัวในกระถางค่ะ มีโหระพาไทยและฝรั่งแทรกอยู่ด้วยค่ะ ที่เห็นเป็นต้นยาว ๆ เหมือนต้นหอมคือ ใบไชว์ฟ ค่ะ ฝรั่งชอบเอาใส่ไข่เจียว
ที่จริงไก่อบแบบฝรั่งเขานิยมใช้ใบไทม์ หรือไม่ก็โรสแมรี่มากเลยค่ะ แต่รจนาคิดว่าเอามาผสมกับหลาย ๆ อย่างก็ไม่เห็นจะผิดกติกา หากเป็นบ้านเราก็เรียกว่า รวมเครื่องข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด ขิง หอม กระเทียม โหระพา กระเพรา ประมาณนั้น
ว่าแล้วก็เลยออกไปซื้อไก่ ไปยืนเปรียบเทียบราคา ไก่ฟาร์มแบบทั่ว ๆ ไปขายแค่กิโลละ ๖ ฟรังก์ ส่วนไก่ไบโอกิโลละ ๑๖ ฟรังก์ และมีไก่ในราคากลาง ๆ ประมาณ ๙ ฟรังก์ ตัดสินใจอยู่พักหนึ่งก็คิดว่า เอาละ เพื่อสุขภาพของเราเอง นาน ๆ ทานที กัดฟันซื้อแบบไก่ไบโอแล้วกัน จะได้รู้ด้วยว่ารสชาติอร่อยหรือเปล่า
ต้นออริกาโน่ (ใครชอบโรยออริกาโน่ผงบนพิซซ่า จะได้เห็นของจริงสด ๆ ค่ะ)
หอบไก่กลับบ้านก็มาล้างทำความสะอาดให้ดีทั้งข้างในข้างนอก เอากระดาษนุ่ม ๆ ซับไก่ให้แห้ง แล้วก็คว้ากรรไกรออกไปในสวน ตัดสมุนไพรทั้งหลายแหล่มาแบบใจป้ำ สมุนไพรเหล่านี้ถ้าไปซื้อตอนหน้าหนาว (เราปลูกเองไม่ได้ เพราะอยู่นอกบ้านก็ตาย อยู่ในบ้านก็ไม่มีแสงมากพอ) แล้วคงต้องจ่ายเงินไม่ต่ำกว่า ๑๐ ฟรังก์สำหรับจำนวนที่เรากำลังจะใช้อยู่นี้
ต้นไทม์ค่ะ มีหลายพันธุ์ บางพันธุ์กลิ่นจะเหมือนมะนาว ให้กลิ่นเข้มข้นหอมมากเลยค่ะ
รจนาเอาสมุนไพรบางส่วนมาตำกับเกลือ พริกไทย งานนี้ไม่ใช้กระเทียมเพราะอยากจะทำแบบฝรั่งจริง ๆ ให้ได้กลิ่นสมุนไพรจากในสวนล้วน ๆ ไม่มีอย่างอื่นมาเจอปน ได้ทั้งใบออริกาโน่ ใบไทม์ ใบเสจ ใบโรสแมรี่ ใบพาร์สลี่ย์ ใบไชว์ฟ (หน้าตาเหมือนต้นหอม แต่กลิ่นคล้าย ๆ กุ้ยช่าย) ใบเอสทรากอน ของเหล่านี้หากทำแห้งแล้วใส่ขวดขายบ้านเรา ขวดละเฉียด ๆ ร้อยบาทนะคะ
พาร์สลี่ย์ใบฝอยหรือผักชีฝรั่ง (อีกแบบหนึ่ง) นี่รจนาชอบเอาไปทำพาสต้าอาหารทะเล
การทำไก่อบทั้งตัวให้อร่อย ให้เนื้อไก่มีรสชาตินั้น เราจะต้องใส่เครื่องปรุงลงไประหว่างหนังไก่กับเนื้อไก่ค่ะ วิธีการก็ไม่ยาก คือ เอานิ้วมือสอดเบา ๆ ไปตรงคอไก่ที่เขาตัดคอไปแล้วกลวง ๆ นั้นแหล่ะค่ะ พยายามแทรกนิ้วไประหว่างเนื้อและหนัง ตามอกไก่และไล่ไปจนถึงง่ามขา และตัวน่อง ให้ไกลเท่าที่จะทำได้ ทั้งนี้เพื่อให้เกิดช่องว่างระหว่างหนังกับเนื้อค่ะ หากเป็นไก่เลี้ยงแบบได้ออกกำลังกายอย่างนี้ หนังจะเหนียวพอควรไม่ขาดง่ายค่ะ
รจนาใช้วิธีนี้ในการแทรกเครื่องปรุงไประหว่างเนื้อและหนังไก่ เอาเครื่องปรุงบดใส่ก่อนให้ทั่ว แล้วตามด้วยใบสมุนไพรสด ๆ แทรกตรงนั้นบ้าง ตรงนี้บ้าง ส่วนหนึ่งก็จับยัดใส่ท้องไก่ พร้อมด้วยเครื่องปรุงที่บดไว้ค่ะ แต่ไม่ลืมเก็บเครื่องปรุงแบบบดไว้นิดนึง สำหรับผสมน้ำราดไก่นะคะ
ต้นโรสแมรี่ ใบให้กลิ่นหอมมาก ลักษณะใบและต้นจะคล้ายกับต้นลาเวนเดอร์แบบแยกกันไม่ออก บางทีหาอะไรไม่ได้ คนที่มีลาเวนเดอร์ก็เอาใบมาทำอาหารแทนโรสแมรี่ค่ะ แต่ดอกลาเวนเดอร์นั้นถือเป็นเครื่องเทศให้กลิ่นหอมอย่างหนึ่ง อาหารจากแถบโพรวองซ์จะนิยมใส่ดอก(และใบ)ลาเวนเดอร์ด้วยค่ะ
จากนั้นก็เอาพริกไทยกับเกลือป่นพรมให้ทั่วไก่ และเอามือนวดทาให้ทั่ว ใครที่ชอบไก่หนังกรอบแห้งก็ตรงนี้แหละค่ะ เกลือที่อยู่บนหนังจะทำให้หนังแห้งดีเวลาอบค่ะ
เปิดไฟ ๒๐๐ องศา ให้ร้อนก่อน จัดไก่วางในถาดอบ เอาด้านอกขึ้นบน วางให้เรียบร้อยดี เก็บแข้งเก็บขา เก็บปีก เอาเข้าเตาอบประมาณ ๒๕ นาทีก่อน
ต้นเสจค่ะ ใบยาว ๆ ค่อนข้างฉุน ทีแรกก็ไม่ค่อยชอบเท่าไร ไป ๆ มา ๆ ก็อร่อยดีค่ะ
หากเห็นผิวอกเกรียมสวยดีแล้วก็เอาออกมา กลับข้างเอาด้านหลังไก่ขึ้นค่ะ อบอีก ๒๕ นาที จากนั้นก็กลับด้านอกขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง อบอีก ๒๐ นาที ตอนนี้ให้แบะขาไก่ ปีกไก่เพื่อให้ตรงซอก ๆ ถูกความร้อนค่ะ เนื้อหนา ๆ ตรงน่องจะได้สุกดี ตรงนี้ให้เอาน้ำมันชโลมหนังไก่นิดหน่อยเพื่อให้เป็นมันสวย บางตำราให้เอาเนยค่ะ
บางตำราเขาไม่กลับไก่เลยค่ะ เพราะเขาจะไม่กินหนังทางด้านหลังไก่ แต่รจนาชอบให้กรอบทั่วตัวก็เลยขยันกลับ แต่ต้องทำให้เร็ว ไม่งั้นไก่ออกมาจากเตาอบนานเนื้อจะด้าน และหากกลับไม่ดี ก็จะทำให้หนังขาดด้วยค่ะ
พอกะว่าไก่เกรียมสวยได้ที่แล้ว น่าจะสุกทั่วกัน ก็เอาไม้เสียบลูกชิ้นจิ้มดูตรงที่หนา ๆ เสียหน่อย หากไม่มีน้ำใส ๆ ของเลือดไก่ไหลออกมาก็แสดงว่าสุกได้ที่ค่ะ
ไก่ที่อบเสร็จแล้ว จะเห็นสมุนไพรอยู่ใต้หนังไก่ เป็นใบออริกาโน่ค่ะไม่ใช่ไก่เป็นโรค หรือถูกใครเตะมาจนช้ำนะคะ
ยกออกจากเตา ทิ้งไก่ไว้สัก ๕ นาที ให้ไก่คลายร้อนนิดนึงก่อนที่จะสับนะคะ ตรงนี้สำคัญค่ะ เพราะเนื้อไก่จะคงความนุ่มจากน้ำอบที่หวานอร่อยค่ะ หากรีบสับ ความร้อนของไก่จะยังสูงมาก ทำให้น้ำอบในเนื้อไก่นี้ระเหยกลายเป็นไอไปหมดค่ะ
โดยปกติในถาดอบจะมีน้ำจากตัวไก่ไหลอยู่ก้นถาด ให้รินน้ำอบตรงนี้ (ไม่เอาที่ดำ ๆ ไหม้ ๆ นะคะ) ไปผสมกับเครื่องปรุงที่ตำไว้ เติมน้ำผึ้งสัก ๒ ช้อน ซีอิ๊วขาวสัก ๓ ช้อน เกลือหน่อย เนยอีกนิด ตั้งไฟอ่อน ๆ ให้ละลาย ปรุงรสตามชอบใจ เอาไว้ราดไก่ค่ะ เป็นไก่สมุนไพรน้ำผึ้ง (แอบเติมซีอิ๊วขาวด้วย)
งานนี้รจนาอบมันฝรั่งกับถั่วแขกทานกับไก่ค่ะ คงต้องรายงานว่าไก่เนื้อนุ่มและแน่น ไม่เหลวไหลเลยค่ะ รสชาติอร่อยมาก หอมกลิ่นสมุนไพรในสวนจริง ๆ ทานแล้วชื่นใจในรสไก่ และรสแห่งธรรมชาติรอบบ้านเราค่ะ รจนาแย่งพ่อบ้านทานปีกไก่ของโปรดค่ะ
แสงเงาตอนที่ถ่ายภาพไก่ในจานนั้นจะออกสีส้มหน่อย เพราะกันสาดที่เทอเรสเป็นสีส้มค่ะ (เผื่อพิลกริมจะตาไวเห็นสีไก่ออกส้ม ๆ คิกคิก)
ชักชวนเพื่อน ๆ มาทานไก่กันค่ะ นั่นแน่ เห็นลุงเปี๊ยกถือกระติบข้าวเหนียวเดินคุยกันมากับคุณหนุ่มร้อยปี ป้าทองของแท้ก็มาพร้อมน้ำจิ้มแจ่วกับกล่องเปล่า คุณลูน่าจันทร์กำลังไปสั่งส้มตำรสแซ่บมาร่วมแจม ส่วนแสนรักนั่นกล่องน้ำพริกหนุ่มหรือเปล่าจ๊ะ น้องโพหัวงูกับพี่แอ๊ดเกี่ยวก้อยกันตามกลิ่นไก่เหมือนพระลอตามไก่ (ย่าง) เลยหล่ะ คุณฟอง โดโรธี กางเขนดง พันนที อุณากร ลูกพี่เชิงดอย กับพิลกริมก็อย่ามัวแต่คุยกันอยู่ มาช้าไก่จะหมดนะคะ คุณปลาหลงน้ำ คุณเล็กกังหันลมคนไกลบ้านทั้งสอง ได้กลิ่นไก่เรียกหาหรือเปล่าเอ่ย....